ปรัชญาและความสำคัญ
ปรัชญา สาขาวิชาดนตรีศึกษา เป็นหน่วยงานที่ผลิตและพัฒนาครูดนตรี และบุคลากรทางดนตรีที่มีคุณภาพต่อสังคม วิสัยทัศน์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มุ่งเน้นกระบวนการการจัดการเรียนการสอนดนตรี เพื่อผลิตบัณฑิตครูด้านดนตรีที่ดี มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู และสามารถนำความรู้ในด้านดนตรีศึกษา ไปพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีหลักการที่ถูกต้อง สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นการก่อตั้งสาขาวิชาใหม่ของคณะครุศาสตร์ เดิมสาขาวิชาดนตรีศึกษาเคยสังกัดอยู่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยต้องดำเนินงานการจัดการศึกษาในการผลิตบัณฑิตสายครูให้ไปตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จึงได้กำหนดแนวทางของการพัฒนาหลักสูตรดนตรีศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน วิกฤต และโอกาสของการจัดการศึกษาในสาขาวิชาดนตรีศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นเพื่อให้เป็นตามนโยบายการผลิตบัณฑิตสายครูของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรดนตรีศึกษา กลุ่มคณาจารย์ที่เคยสังกัดสาขาวิชาดนตรีและดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงย้ายมาสังกัดคณะครุศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน คือ อาจารย์ ดร.ธนพล ตีรชาติ อาจารย์เชาว์ การวิชา และอาจารย์ธิติพงษ์ ปัญญาอินทร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรดนตรีศึกษา (ค.บ. 5 ปี) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 ทั้งนี้ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2555 สาขาวิชาดนตรีศึกษามีอาจารย์ที่ปฏิบัติงาน จำนวน 14 คน มีนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 5 จำนวน 269 คน

พันธกิจ
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้แล้ว นักศึกษาจะเป็นผู้มีคุณลักษณะและความรู้ ความสามารถ ดังนี้
- มีคุณธรรม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีจรรยาบรรณตามวิชาชีพครู และมีความรับผิดชอบสูง ต่อวิชาการ วิชาชีพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2. มีความอดทน ใจกว้างและมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ดนตรีศึกษา รวมทั้งการทำงานร่วมกันกับผู้เรียนและผู้ร่วมงานทุกกลุ่ม
3. มีความรอบรู้และมีความสามารถประยุกต์ความเข้าใจอันถ่องแท้ในทฤษฎี และระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความรู้ใหม่ ในศาสตร์ศิลปศึกษาได้อย่างถูกต้อง
4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และข้อโต้แย้งทางด้านดนตรีศึกษา โดยการแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในการแสวงหาทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมและปฏิบัติได้
5. มีความสามารถในการพิจารณาแสวงหา และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางวิชาการศิลปศึกษา วิชาชีพและสังคมอย่างมีเหตุผลที่สมเหตุสมผล โดยการบูรณาการศาสตร์แบบสหวิทยาการและพหุวิทยาการเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน
6. มีความสามารถในการติดตามพัฒนาการของศาสตร์ทั้งหลาย และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสมรรถนะของตนอยู่เสมอ